ร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาท้องถิ่น เพื่อคนไทยทุกคน

ขอเชิญร่วมตอบคำถามครับ

พรบ.

:: ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
:: ว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 ข้อที่ 1-31
โดยที่เป็นการสมควรสนับสนุนให้การปฏิบัติราชการของจังหวัดต่างๆ เป็นการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
เพื่อให้มีหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ภาครัฐในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพและสมรรถภาพสูง สามารถประสานและกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ และส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ ให้สามารถริเริ่ม แก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบงานที่มีกระบวนการสร้างความเห็นพ้องต้องกันของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการบริหารราชการระดับพื้นที่
อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 11 (8) แห่ง พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และ มาตรา 38 วรรคสี่ แห่ง พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546"
ข้อ 2[1] ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิก
(1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2539
(2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
(3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
"การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ" หมายความว่า การบริหารราชการของจังหวัดเพื่อให้จังหวัดสามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ในเขตจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีการบูรณาการยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ สรรพกำลังและทรัพยากรในจังหวัด และการทำงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมอย่างมีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงานในการบริหาร การพัฒนา การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่จังหวัดอย่างชัดเจน
"กลุ่มจังหวัด" หมายความว่า การจัดกลุ่มจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือมีความเกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจ การผลิต การค้า การลงทุน หรือมีลักษณะปัญหาเฉพาะที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างจังหวัด ซึ่งเป็นการจัดเพื่อประสานความร่วมมือ สรรพกำลัง และการใช้ทรัพยากรระหว่างจังหวัด เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ
"ส่วนราชการ" หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
"รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งแต่ไม่รวมถึงกรุงเทพมหานคร
"ภาครัฐ" หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ
"ภาคเอกชน" หมายความว่า องค์กรเอกชน นิติบุคคลเอกชน คณะบุคคลที่เป็นผู้แทนกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอาชีพ หรือบุคคลในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือประชาคม
"ภาคประชาชน" หมายความว่า ประชาชน นักวิชาการ หรือบุคคลอื่น
ข้อ 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยตีความเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
:: หมวด 1 การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
ข้อ 6 การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการให้คำนึงถึงหลักการ ดังต่อไปนี้
(1) การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
(2) กำหนดให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างศักยภาพในการแข่งขัน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความล่าช้า และความสิ้นเปลือง
(3) ส่วนราชการในราชการส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดให้การสนับสนุนการจัดองค์กร บุคลากร งบประมาณ และข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับอย่างเพียงพอ เพื่อการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปสู่ระดับผู้ปฏิบัติ
(4) สนับสนุนนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้วยการทำให้เกิดการยอมรับต่อเป้าหมาย การทำงานร่วมกันจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากกว่ามุ่งเน้นการกำกับดูแลแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น
(5) ส่งเสริมการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ผู้ปฏิบัติและมีศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศ เป็นฐานข้อมูลในการบริหารและติดตามประเมินผล
(6) มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำงานไว้ในระดับชาติ โดยให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการสามารถกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติและตัวชี้วัดในระดับจังหวัดได้เอง
ข้อ 7 การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการมีภารกิจหลัก ภายใต้อุดมการณ์การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดังนี้
(1) สร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจน ในจังหวัด
(2) สร้างสังคมที่สงบสุขและพึงปรารถนาร่วมกัน
(3) สร้างการพัฒนาให้เกิดดุลยภาพที่ยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
(4) บริหารราชการให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
(5) ทราบ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัด
(6) ปฏิบัติภารกิจอันเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล และการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ข้อ 8 ผู้ว่าราชการจังหวัดในระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ชี้นำกลยุทธ์ โดยทำหน้าที่นำยุทธศาสตร์ของชาติไปกำหนดเป็นระเบียบวาระของพื้นที่ รวมทั้งนำปัญหาและความต้องการของพื้นที่มากำหนดเป็นแนวทางริเริ่มแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่
(2) เป็นหัวหน้าทีมประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในสังคมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้น โดยสนับสนุนให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเป็นทีม เสริมสร้างการให้กำลังใจและกระตุ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย และสนับสนุนการแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน
(3) สร้างระบบสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชน และพัฒนาท้องถิ่น
(4) เสริมสร้างให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการทำงาน และมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม
(5) พัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และกระทำตนเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติงาน
:: หมวด 2 องค์กรกำกับและดำเนินการการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
ข้อ 9 ให้มีคณะกรรมการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เรียกโดยย่อว่า "กสจ." ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(2) รองนายกรัฐมนตรีทุกคน รองประธานกรรมการ
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
(4) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
(5) เลขาธิการคณะกรรมการ กรรมการ ข้าราชการพลเรือน
(6) เลขาธิการคณะกรรมการ กรรมการ พัฒนาระบบราชการ
(7) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
(8) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา กรรมการ การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(9) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
(10) อธิบดีกรมบัญชีกลาง กรรมการ
(11) ประธานกรรมการหอการค้าไทย กรรมการ
(12) ประธานสภาอุตสาหกรรม กรรมการแห่งประเทศไทย
(13) ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
(14) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้ง กรรมการ จากภาคเอกชนไม่เกินสามคนและนักวิชาการอีกไม่เกินสามคน
(15) ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการและเลขานุการ
(16) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายบริหาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 10 ให้ กสจ. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) กำหนดกรอบนโยบาย วางระบบ แนวทาง มาตรการในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และกำหนดแนวทางในการแปลงนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด
(2) อำนวยการและประสานการดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนให้การสนับสนุน
(3) เสนอแนะและแก้ไขปัญหาเพื่อให้การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการสัมฤทธิ์ผล
(4) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่น ของรัฐปรับปรุงระบบการทำงาน ระบบการบริหารงานบุคคล ระบบงบประมาณ ระบบการเงินการคลัง หรือระบบการบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ ให้สอดคล้องกับ ระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
(5) กำหนดกรอบแนวทางการติดตามประเมินผลการบริหารงานจังหวัดแบบ บูรณาการ
(6) ดำเนินการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นประธานคณะอนุกรรมการ
(8) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ 11 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม ข้อ 9 (14) อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ ให้กรรมการผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ข้อ 12 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม
" ข้อ " 9 (14) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(6) ประธานกรรมการให้ออก
ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด เรียกโดยย่อว่า "กกจ." ประกอบด้วย
(1) รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
(2) รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองประธานกรรมการ
(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัด กรรมการ
(4) ผู้แทนส่วนราชการของราชการ กรรมการส่วนกลาง หรือราชการส่วนกลาง
ในระดับภาคหรือเขตซึ่งประธานกรรมการ แต่งตั้งจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน
(5) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนซึ่ง กรรมการประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน
(6) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนซึ่ง กรรมการประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน
(7) ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
(8) ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และผู้ช่วยเลขานุการ
การแต่งตั้งกรรมการตาม (4) (5) และ (6) ให้ประธานกรรมการคำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรืออำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ที่จะสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติให้สำเร็จตามภารกิจและเป้าหมายในการดำเนินงานของกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้ ในกรณีที่นโยบายหรือภารกิจเปลี่ยนแปลงไป ประธานกรรมการสามารถปรับเปลี่ยนการแต่งตั้งกรรมการ ดังกล่าวให้เหมาะสมกับนโยบายหรือภารกิจใหม่ได้
ข้อ 14 ให้ กกจ. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) บูรณาการการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคีการพัฒนา
(2) ส่งเสริม ประสานความร่วมมือการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งป้องกัน และแก้ไขปัญหาภายในกลุ่มจังหวัดและระหว่างกลุ่มจังหวัด
(3) กำกับ ให้คำแนะนำ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานภายในกลุ่มจังหวัดที่รับผิดชอบ แล้วรายงานคณะกรรมการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
(4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรมอบหมาย
(5) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการมอบหมาย
ข้อ 15 ให้นำความใน ข้อ 11 และ ข้อ 12 มาใช้บังคับกับวาระการดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม ข้อ 13 (5) และ (6) โดยอนุโลม
ข้อ 16 ให้มีคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เรียกโดยย่อว่า "กบจ." ประกอบด้วย
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการ
(2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองประธานกรรมการ
(3) ผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากกรรมการ
ผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีจำนวนตามความเหมาะสมของภารกิจจังหวัด
(4) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด กรรมการและเลขานุการ
ให้นำความในวรรคสองของ ข้อ 13 มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งกรรมการตาม (3) ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 17 ให้ กบจ. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด แผนงานหรือโครงการ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค และยุทธศาสตร์ชาติ
(2) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้มีการพัฒนาให้เป็นไป ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
(3) บูรณาการการจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนา โดยการประสานงานกับ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชน
(4) กำกับ ให้คำแนะนำ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานภายในจังหวัด
(5) เชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ภาคเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง ให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น หรือส่งเอกสารตามที่เห็นสมควร
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการด้านต่างๆ
(7) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดมอบหมาย
ในการดำเนินการตาม (4) ให้มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่ง กบจ. มีมติแต่งตั้งจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการตรวจสอบหรือการประเมินผล จำนวนเจ็ดคน ทำหน้าที่จัดทำรายงานการตรวจสอบและประเมินผลเสนอ กบจ.
ข้อ 18 ให้นำความใน ข้อ 11 และ ข้อ 12 มาใช้บังคับกับวาระการดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งของกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 19 ระเบียบวิธีการประชุม การดำเนินการประชุม องค์ประชุม และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ให้เป็นไปตามที่ที่ประชุม กบจ. มีมติกำหนด ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความไม่ซับซ้อนของพิธีการ การระดมความคิดเห็น การปฏิบัติงานเป็นทีม เน้นความสัมพันธ์และการร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย
:: หมวด 3 การสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
ข้อ 20 ให้มีการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยให้สำนักงบประมาณ และส่วนราชการตามนิยามของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 ที่ดำเนินการในจังหวัดนั้น แจ้งรายละเอียดข้อมูลแผนงาน โครงการ และงบประมาณที่จัดสรร ให้แก่จังหวัดภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้จังหวัดบูรณาการและประสานการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในการนี้ ให้สำนักงบประมาณวางแนวทางการแจ้งรายละเอียดข้อมูลแผนงาน โครงการ และงบประมาณที่จัดสรร เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการด้านงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะขอให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในจังหวัด ดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วยก็ได้
ข้อ 21 การบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ การมอบอำนาจบริหารงบประมาณ การโอนงบประมาณของหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการที่ต้องดำเนินการในส่วนภูมิภาค การใช้เงินเหลือจ่ายของส่วนราชการที่ได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายแล้ว การใช้จ่ายงบกลางที่จัดสรรให้จังหวัด และรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546
ข้อ 22 ให้มีคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่ กสจ. กำหนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และบุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการบริหารงบประมาณ จำนวนเจ็ดคน
ข้อ 23 ในการจัดซื้อจัดจ้างของจังหวัดแบบบูรณาการ ให้ส่วนราชการมอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดลงไปถึงหัวหน้าหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชนใน***ส่วนที่เหมาะสม ในการนี้ จังหวัดจะวางระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ 24 ให้มีคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่ กสจ. กำหนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และบุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การบัญชี หรือการพัสดุ จำนวนเจ็ดคน
ข้อ 25 ให้มีระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดแบบ บูรณาการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้จังหวัดดำเนินการจัดให้มีระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของจังหวัด ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งข้อมูลการบริหารงานบุคคล แผนงาน โครงการพัฒนาจังหวัด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด การใช้ประโยชน์ที่ดินและสินทรัพย์ ดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงานตลอดจนความเดือดร้อนของประชาชน และฐานข้อมูลอื่น โดยจัดให้มีการวางระบบเชื่อมโยงเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาคเอกชน โดยมีศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางของจังหวัดทำหน้าที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งแนวดิ่งและแนวราบ
(2) ให้จังหวัดพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัดให้ไปถึงขั้น e- Province และมี website ของจังหวัด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของจังหวัดได้ และสามารถที่จะให้บริการประชาชนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ต่อไปได้
(3) ให้จังหวัดปฏิบัติตามมาตรฐานการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และวางระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่สามารถกำหนดระดับหรือชั้นในการเข้าถึงและการเรียกใช้ข้อมูล
(4) ให้จังหวัดจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของจังหวัดได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 26 ให้มีคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามที่ กบจ. กำหนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และบุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวนเจ็ดคน
ข้อ 27 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการด้านบุคลากร ให้จังหวัดจัดให้มีการพัฒนาระบบราชการและการบริหารงานบุคคลของจังหวัด ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้มีการพัฒนาบุคลากรในจังหวัดเพื่อยกระดับความสามารถในการปฏิบัติงาน พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ปรับเปลี่ยนค่านิยม ทัศนคติ และวิธีการทำงานของข้าราชการ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ข้อ 28 ให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและยุทธศาสตร์กำลังคนของจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านพัฒนาระบบราชการและกำลังคน เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยมีจำนวนตามความเหมาะสมของภารกิจจังหวัด และมีสำนักงานจังหวัดทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบราชการและการบริหารกำลังคนของจังหวัด
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบราชการและวิธีการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนของจังหวัด กำหนดยุทธศาสตร์ และวางแผนการบริหารและพัฒนากำลังคน ให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการสรรหา แต่งตั้ง หรือโยกย้าย พิจารณาความดีความชอบ หรือลงโทษทางวินัย
ในกรณีที่การใช้อำนาจบริหารงานบุคคลเกินอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ทำความเห็นเสนอส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาดำเนินการให้เป็นไป ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและยุทธศาสตร์กำลังคนของจังหวัด
ข้อ 29 ในกรณีที่ระเบียบนี้มิได้กำหนดไว้ ให้ส่วนราชการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2546 เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการสามารถวินิจฉัยสั่งการได้ในลักษณะครอบคลุมทันต่อเหตุการณ์ หรือใช้ดุลพินิจให้เอื้อต่อการบริหารเชิงกลยุทธ์ของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเพื่อให้มีการมอบอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำกับดูแลบังคับบัญชาข้าราชการในจังหวัด ได้อย่างมีเอกภาพ


:: หมวด 4 การจัดทำความตกลง
ข้อ 30 การจัดทำความตกลงของผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อกำหนดมาตรการกำกับการปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
:: บทเฉพาะกาล
ข้อ 31 ให้โอนบรรดากิจการของคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และคณะกรรมการส่งเสริมงานคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาคจังหวัด ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ไปเป็นของคณะกรรมการสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ


:: ประกาศ ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2546
:: (ลงชื่อ) พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มนตรี

โดยคุณ 007 ลำชีบน (203.151.140.119) [20 Jun 2005 08:05]




คู่มือสอบ อบต. และ แนวข้อสอบ อบต. ~~มีจำหน่ายแล้ว~~
มีทั้งหนังสือ และ MP3 เสียง
Link นี้ค่ะ : http://www.soutpaisallaw.com/abt.htm

สูตรไพศาลเป็นแหล่งตำรากฎหมายมากว่า 40 ปี
มีความชำนาญในด้านการรวบรวมสื่อทางวิชาการต่าง ๆ
นอกจากหนังสือแล้ว เรามี CD โปรแกรมกฎหมาย , MP3 กฎหมาย ,
VCD การบริหาร ฯ , ชุดหนังสือสอบ

ติดต่อ สำนักพิมพ์สูตรไพศาล
16/4-9 เพชรเกษม 63 ซ.วัดม่วง บางแค กทม. 10160
โทร 02-4134349 , 02-4541065 , 02-4554957
Fax . 02-4555027

หรือ ศูนย์หนังสือใน รพ.ตำรวจ (ปทุมวัน)
โทร. (02) 2524811

http://www.soutpaisallaw.com
E-mail : webmaster@soutpaisallaw.com


โดยคุณ สูตรไพศาล Mail to สูตรไพศาล (58.10.26.187) [21 Jun 2005 10:26] #14687 (1/1)

ขอเชิญร่วมตอบคำถามครับ
ความคิดเห็น
โดย
Email (สมาชิกไม่ต้องใส่)
รหัสลับ   (นำไปป้อนช่อง ป้อนรหัส ด้านล่าง)
ป้อนรหัส


คลิกที่รูป เพื่อแทรกรูปลงในข้อความ
Password
(สำหรับสมาชิก)
เลือกรูป

[ สมัครสมาชิก | ปิดหน้าต่างนี้ ]
CopyLEFT and Powered By : Sansak